ข้อแนะนำ 5 ประการในการถนอมรักษาเลนส์แว่นตา

วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


ข้อควรปฏิบัติเพื่อช่วยรักษาให้เลนส์แว่นตามีอายุการใช้งานยาวนาน
1. อย่าจับขาแว่นตาเพียงข้างเดียวในขณะที่สวมหรือ ถอดแว่นตา



2. อย่าวางแว่นตาไว้ในลักษณะหงายโดยที่ผิวเลนส์ ต้องสัมผัสกับพื้นเพราะอาจทำให้เลนส์เป็นรอยได้ง่าย



3. อย่าเช็ดเลนส์โดยที่ไม่ได้ล้างด้วยน้ำสะอาด ซึ่งควรใช้ผ้าสำหรับเช็ดเลนส์โดยเฉพาะหรือ กระดาษเนื้อนุ่มสะอาดเท่านั้น



4. อย่านำแว่นตาไปวางไว้ภายในรถยนต์ที่ถูกจอด อยู่กลางแดดเป็นเวลานาน



5. อย่าสวมหรือนำแว่นตาเข้าไปในบริเวณที่สัมผัสกับ ไอน้ำร้อนเป็นเวลานานเช่น ห้องอบไอน้ำ (Sauna)


Credit: The five recommendations in the preservation of eyeglass lenses by Thaioptic.com

ความสัมพันธ์ระหว่างลูกตากับสายตาสั้น

วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555


0 ความคิดเห็น
ความสัมพันธ์ระหว่างลูกตากับสายตาสั้น
แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
1.การเจริญเติบโตของลูกนัยน์ตา
1.1 เส้นผ่าศูนย์กลางของลูกนัยน์ตา (Axial length)
ถ้าลูกตามีขนาดยาวมากก็จะทำให้สายตาสั้นมาก
1.2 ระบบหักเหของแสง (Refractive System) ซึ่งเกี่ยวกับความผิดปกติของสิ่งเหล่านี้
1.2.1 Index (ดัชนีหักเหแสง) ผิดปกติจะทำให้เกิดสายตาสั้น เช่น
- Aqueous humour, lens nucleus, cornea สูงกว่าปกติจะทำให้เกิดสายตาสั้น
- Vitreous humour, lens cortex ตำ่กว่าปกติจะเกิดสายตาสั้น
1.2.2 Curvature (ความโค้ง)
ความโค้งของกระจกตาดำ และเลนส์แก้วตามากกว่าปกติจะทำให้เกิดสายตาสั้น
1.2.3 Aqueous chamber
ความลึกทางด้าน anterior ลดลงทำให้เกิดสายตาสั้น

Degree of error

ลำดับ
ระดับความผิดปกติ
ค่าสายตาผิดปกติ
1
Very low (ต่ำมาก)
-0.25 ถึง -1.00 D.
2
Low (ต่ำ)
-1.00 ถึง -3.00 D.
3
Medium (ปานกลาง)
-3.00 ถึง -6.00 D.
4
High (สูง)
-6.00 ถึง -10.00 D.
5
Very High (สูงมาก)
มากกว่า -10.00 D.

สำหรับชนชาติไทยพบว่า มีสายตาสั้นน้อยกว่าชนชาติเอเชียอื่นๆ ผลงานของ นพ.นิยม คอนยาม่า ได้ค้นคว้ากับเยาวชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี พ.ศ.2511 แสดงให้เห็นว่า สายตาส่วนใหญ่เป็นปกติในอายุ 12-18 ปี ซึ่งในระยะนี้ชนชาติญี่ปุ่นสายตาสั้นประมาณ -1.00 D. ถึง -1.50 D.

- เด็กไทยในวัย 12-18 ปีพบว่าลูกตายาวพอกัันกับชนชาติอื่น แต่พบว่ากระจกตาดำของเด็กไทยโค้งมากกว่า ซึ่งเป็นผลให้เกิดสายตาสั้น แต่แก้วตาของคนชาติอื่นโค้งน้อยลงซึ่งในคนปกติจะทำให้เกิดสายตายาว แต่เนื่องจากกระจกตาดำมีความโค้งมาก รวมกับแก้วตาซึ่งมีความโค้งน้อยจึงบวกลบกันทำให้เด็กส่วนใหญ่มีสายตาปกติได้

- ในการศึกษากับเด็กนักเรียนที่อำเภอบางปะอิน ก็เช่นกันพบว่าเด็กส่วนใหญ่เป็นสายตายาว และเมื่ออายุมากขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสายตาปกติหรือสายตาสั้นเป็นต้น แต่ก็ยังคงมีสายตายาวมากกว่าสายตาสั้น

ชนชาติญี่ปุ่น
ชนชาติญี่ปุ่น
ชนชาติไทย
ชนชาติไทย
ความผิดปกติ
ชาย
หญิง
ชาย
หญิง
สายตาปกติ
42.7%
44.6%
60.7%
55.6%
สายตาสั้น
52.4%
51.9%
25%
24.4%
สายตายาว
4.9%
3.6%
14.3%
20.1%

พยาธิสภาพทางคลินิก
นัยน์ตามักมีขนาดใหญ่และโปนกว่าธรรมดา ช่องหน้าม่านตาดำมักจะลึก รูม่านตาอาจมีขนาดใหญ่ และมีปฏิกิริยาต่อแสงน้อย Circular fibres ของกล้ามเนื้อซิเลียรี่มักจะฝ่อ เนื่องจากขาดการกระตุ้นในขณะที่มี Accommodation

คนที่สายตาสั้นมากๆ อาจพบว่ามีการแกว่งของม่านตาได้เล็กน้อย เนื่องจากขาดการพยุงตัวโดเลนส์นูน อาจพบว่าส่วนด้านหลังตาขาวมักจะบางกว่าปกติ

ถ้าตรวจดูด้วย Ophthalmoscope อาจพบว่ามีการฝ่อของเรตินา (Retina) และคอลอยด์ (Choroids) โดยทั่วไปที่ขั้วประสาทตาจะมี Myopic crescent ซึ่งเกิดจากขั้วด้านหลังของนัยน์ตายาวออกไป ทำให้เรตินาและคอลอยด์ (Choroids) แยกออกจากขอบด้านนอกของขั้วประสาท บางราย Myopic crescent (มีรูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยว) อาจขยายเป็นวงรอบๆ ขั้วประสาท และอาจขยายไปถึงบริเวณแมคคูลา (Macula)

ในรายที่สายตาสั้นมากๆ อาจมี Staphyloma ของขั้วด้านหลังของนัยน์ตา (Staphyloma คือการโปนไปข้างหลังของเปลือกลูกตาที่ขั้วด้านหลังของนัยน์ตา) และมีการเสื่อมทำให้สายตาเสียอย่างมาก

ในรายที่มีการเสื่อมของเรตินา (Retina) และคอลอยด์ (Choroids) ทั่วๆไป Pigme ในชั้น Pigment layer ของเรตินา (Retina) จะน้อยกว่าปกติ และเกิดการฉีกขาด และเลือดออกที่เรตินา (Retina) วิทเทรียส (Vitreous) มักจะเสื่อมและเหลว

อาการและการแสดงออก
อาการมักขึ้นอยู่กับดีกรีของสายตาสั้น คนที่สายตาสั้นเล็กน้อยหรือปานกลาง อาจไม่มีอาการอย่างใดนอกจากมองภาพไกลๆ ไม่ชัด แต่สามารถทำงานใกล้ได้อย่างปกติโดยไม่ต้องใช้ Accommodation แต่บางรายอาจปวดตาหลังจากใช้สายตามองใกล้ เนื่องจากมี Convergence มากกว่าปกติ ทำให้เกิด Eye strain(เครียด)ขึ้น บางครั้ง Convergence ที่มากกว่าปกตินี้ อาจไปกระทบกระเทือนถึง Accommodation ได้เนื่องจากแรงกระตุ้นทางสรีรวิทยา (Physiological impulse) ที่เกิดขึ้นไปกระตุ้น Accommodation ด้วยจึงทำให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อซิเรียรี่ (Ciliary spasm) ขึ้นจะยิ่งทำให้เกิดสายตาสั้นเทียมเพิ่มขึ้นอีก

บางรายกำลังของการเบนเข้าหากัน (Power of convergence) จะลดน้อยลงจนทำให้เกิดความไม่สมดุลย์ของกล้ามเนื้อตา (Muscular imbalance) และเป็นผลทำให้การมองเห็นสองตา (Binocular vision) เสียไป ผู้ป่วยจะใช้นัยน์ตาเพียงตาข้างเดียว อีกข้างหนึ่งจะเบนออก ทำให้เกิดตาเหล่ชนิดออกนอก (Divergent squint) ขึ้น

สาเหตุของสายตาสั้น


0 ความคิดเห็น
สาเหตุของสายตาสั้น
สายตาสั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้นมีการศึกษากันมากในชนชาติต่างๆ ทราบกันทั่วไปว่าชนชาติญี่ปุ่นและจีนมีสายตาสั้นมาก แต่ในยุโรปมีคนสายตายาวมากกว่า ซึ่งเนื่องจากความแตกต่างในเชื้อชาติ สาเหตุของสายตาสั้นนั้นอธิบายได้ยาก แต่สายตาสั้นชนิดหนึ่งที่พิสูจน์ได้ว่าเกิดจากกรรมพันธุ์ ชนิดนี้ถือว่าเป็นความผิดปกติตามการสืบสายต่อกันมา คือเป็นสายตาสั้นชนิดร้าย ซึ่งถือว่าเป็นมาตั้งแต่กำเนิด

1.Progressive myopia
สายตาสั้นชนิดนี้เป็นเนื่องจากกรรมพันธุ์และเป็นมาตั้งแต่วัยเด็ก เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ มักเป็นมากขึ้นกว่า 10.00-15.00 D. คือสั้นเป็นพันขึ้นไปเป็นต้น ในที่สุดไม่สามารถจะสวมแว่นตาได้เต็มที่ เพราะเลนส์หนาขึ้นมากจำเป็นต้องใช้แว่นตาที่มีกำลังน้อยกว่าความเป็นจริง และถึงแม้ว่าจะใช้แว่นตาก็ไม่สามารถช่วยให้สายตาดีขึ้นเท่าคนปกติได้ สายตาสั้นชนิดนี้เรียกว่า "Progressive myopia" ส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นเร็วมากในคนอายุ 15-20 ปี ต่อจากนั้นก็จะเพิ่มขึ้นช้าลง ในคนสายตาสั้นชนิดนี้เป็นเพราะลูกตายาวออกไปทางด้านหลังยาวออกไปเรื่อยๆ ระบบการหักเหแสงจึงกลายเป็น Axial myopia คือลูกตายื่ยยาวออกไปเรื่อยๆ

2.Congenital myopia
มักไม่ค่อยพบ ถ้าพบมักจะเกิดในอายุ 3-4 ขวบและในวัยเด็กมักไม่เกิน 3.00-5.00 D. พอถึงวัยหนุ่มสาวมักจะไม่เพิ่มขึ้นอีก

3.Simple myopia
เป็นสายตาสั้นที่ส่วนใหญ่เราพบกันอยู่ทุกวัน บางครั้งเรียกว่า สายตาสั้นโรงเรียน หรือสายตาสั้นชนิดดีเพราะดูคล้ายกับว่า เริ่มเป็นเมื่อวัยเริ่มเล่าเรียน และเป็นมากขึ้นในระหว่างเล่าเรียนอยู่ แต่ก็ไม่มากเท่าสายตาสั้นสองชนิดแรก จึงทำให้สายตาสั้นชนิดนี้คนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่า เนื่องมาจากใช้สายตาระหว่างเล่าเรียน เป็นมากขึ้นตามขั้นการเรียน ดูแล้วเหมือนกับว่ามีมากตามขั้นสูงๆ ขึ้นไปเป็นต้นแต่จากการศึกษากันมาคิดว่าไม่เกี่ยวข้องกัน

4.สายตาสั้นที่เกิดจากโรคตา มีสองชนิดคือ
4.1 เกิดจากโรคเบาหวาน เพราะระดับนำ้ตาลในเลือดสูง และอยู่ใน Anterior chamber ทำให้ดัชนีหักเหแสง (Refraction Index) เพิ่มขึ้น
4.2 เกิดจาก Cataract (ต้อกระจก) เลนส์ตาจะแข็งตัวและทำให้ดัชนีหักเหแสง (Refraction Index) เพิ่มขึ้น

ความหมายและการจำแนกชนิดของสายตาสั้น


0 ความคิดเห็น
ความหมายของสายตาสั้น
สายตาสั้น ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Nearsighted หรือ Myopia หมายถึง การมองเห็นภาพในระยะใกล้ชัด แต่ไม่สามาถมองเห็นภาพในระยะไกลได้ชัดเจน เกิดจากกำลังหักเหของแสงทั้งหมดซึ่งเป็นผลบวกระหว่างกำลังหักเหของกระจกตาดำกับเลนส์ตาสองอย่างมากเกินไป จุดรวมแสงหรือจุดโฟกัสของรังสีแสงจึงตกอยู่หน้าโฟเวีย (Fovea) หรือเรตินา (Retina)

วิธีแก้ไข โดยการลดกำลังหักเหของแสงให้น้อยลง ซึ่งทำได้โดยการนำเลนส์เว้าซึ่งเป็นเลนส์ที่มีกำลังเป็นลบไปไว้ข้างหน้ากระจกตาดำ

การหักเหของแสงในภาวะสายตาปกติ
การหักเหของแสงในภาวะสายตาสิ้น

การจำแนกชนิดแบ่งได้ 2 วิธีคือ
1. แบ่งตามโครงสร้างของดวงตา (Organic Structure) ได้แก่
1.1 Axial myopia (เส้นผ่าศูนย์กลาง) เกิดจากเส้นผ่าศูนย์กลางของนัยน์ตายาวกว่าปกติซึ่งเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด
1.2 Curvature myopia (ความโค้ง) เกิดจากความโค้งของพื้นผิวกระจกตาดำ หรือเลนส์ตาโค้งมากกว้่าปกติ (จุดโฟกัสของแสงจะตกก่อนไปไม่ถึงจอรับภาพ)
1.3. Index myopia (ดัชนีหักเหแสง) เกิดจากการหักเหแสง (Refraction) ของเลนส์ตาเพิ่มขึ้นพบในผู้สูงอายุ

2. แบ่งตามชนิด ได้แก่
2.1 Congenital myopia พบตั้งแต่แรกเกิดหรือเป็นมาแต่กำเนิด และไม่เพิ่มมากขึ้นในวัยเด็ก
2.2 Simple myopia พบในวัยหนุ่มสาวและมักจะหยุดเพิ่มขึ้นเมื่อร่างกายหยุดเจริญเติบโต (ประมาณอายุ 23 ปี)
2.3 Progressive myopia พบในวัยหนุ่มสาวและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุต่อมามักเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเสื่อมของคอลอยด์ (Choroids) และส่วนอื่นๆ ของนัยน์ตา อาจเป็นผลถึงกับตาบอดได้เรียกว่า (Malignant myopia)
2.4 Acquired myopia หมายถึง สายตาสั้นที่เกิดขึ้นร่วมกับโรคหรือสภาพบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราวเช่น เมื่อร่างกายทรุดโทรมหลังจากเจ็บป่วย หรือในระยะแรกของโรคเบาหวานและในระยะแรกของต้อกระจกก็อาจทำให้เกิดสายตาสั้นได้

ดัชนีหักเหแสง (Refractive index, RI)

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554


0 ความคิดเห็น
นิยามแห่งดัชนีหักเหแสงคือ ค่าความเร็วของแสงที่วิ่งผ่านวัสดุตัวกลางเทียบกับความเร็วของแสงที่วิ่งผ่่านสูญญากาศ เมื่อเราพิจารณาจากตรงนี้เราจะพบว่ามันได้เกิดการหักเหแสงเมื่อเดินทางผ่านวัสดุตัวกลางทั้งสองชนิดนี้ส่งผลให้มันเกิดปฏิกิริยาต่อการมองเห็นได้

ดัชนีหักเหแสง (n) นั้นสามารถเขียนอธิบายเป็นสูตรคำนวณได้คือ n=c/v โดยที่
ความเร็วแสงเมื่อเดินทางผ่านสูญญากาศคือ c
ความเร็วของแสงที่เดินทางผ่านวัสดุตัวกลางนั้นคือ v

ค่าดัชนีหักเหแสงนี้จะได้มาเป็นตัวเลขซึ่งมีค่ามากกว่า 1 เสมอ โดยตัวเลขนี้จะบ่งชี้ถึงกำลังหักเหแสงของวัสดุว่ายิ่งตัวเลขมีค่ามากเท่าใดก็จะมีกำลังการหักเหแสงที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งวัสดุที่มีดัชนีหักเหแสงที่สูงกว่าจะสามารถหักเหลำแสงได้มากกว่า วัสดุที่มีดัชนีหักเหแสงต่ำกว่านั่นเอง

ดัชนีหักเหแสงของเลนส์แว่นตาจะเริ่มต้นที่ 1.5 สำหรับเลนส์ที่ใช้กันทั่วไปและสามารถขึ้นไปสูงสุดในปัจจุบันได้ถึง 1.76(พลาสติก) และ 1.9(กระจก)

ความยาวคลื่นของรังสี UV

วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553


0 ความคิดเห็น
ความยาวคลื่นของรังสีรังสีอัลตราไวโอเลตหรือที่มักเรียกย่อว่ารังสียูวี (Wavelengths of UV radiation) แบ่งเป็นช่วงได้ดังนี้
รังสี UV-A มีความยาวคลื่น 315 นาโนเมตร ถึง 400 นาโนเมตร
รังสี UV-B มีความยาวคลื่น 280 นาโนเมตร ถึง 315 นาโนเมตร
รังสี UV-C มีความยาวคลื่นน้อยกว่า 280 นาโนเมตร

รังสี UV-A เป็นรังสีที่มีอันตรายไม่มากมีประโยชน์ในการสังเคราะห์วิตามินดี แต่หากมากเกินไป จะทำให้ผิวหนังหยาบกร้าน ยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ทำให้ผิวหนังแดงและเกิดโรคเกี่ยวกับตา UV-A ไม่ทำลายสิ่งมีชีวิตและส่องถึงพื้นโลกเกือบ 100%

รังสี UV-B เป็นรังสีที่มีผลในการสร้างวิตามินดีในช่วงระยะสั้น แต่เป็นรังสี UV ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตเช่น ทำให้ผิวหนังแดงไหม้เกรียม, ยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย, ทำลาย DNA และก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง, โรคภูมิแพ้, ผิวหนังเหี่ยวย่น และโรคเกี่ยวกับตา UV-B ถูกดูดกลืนจากชั้นโอโซนและออกซิเจน โดยเข้าถึงพื้นโลกประมาณ 10% แต่ถ้าโอโซนและออกซิเจนถูกทำลายมากขึ้นรังสี UV-B ก็จะเข้าถึงพื้นโลกมากขึ้นก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตมากขึ้นเช่นกัน

รังสี UV-C เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต หาก UV-C เข้ามาถึงพื้นโลกก็ไม่เกิดสิ่งมีชีวิต แต่โชคดีที่ UV-C ถูกดูดกลืนทั้งหมดจากชั้นโอโซนและออกซิเจนในอากาศ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า รังสี UV มีประโยชน์ในกระบวนการทางชีววิทยา แต่รังสี UV ก็เป็นอันตรายขั้นรุนแรงหากได้รับรังสี UV มากเกินไปโดยเฉพาะ ผิวหนังและดวงตา

การได้รับรังสี UV มากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อ ผิวเนื้อเยื่อ กระจกตา และโครงสร้างเลนส์ตา
โดยการที่ดวงตาสัมผัสแสงแดดซึ่งมีรังสี UV เป็นระยะเวลานาน จะเป็นผลทำให้เลนส์ตา เป็นต้อกระจก, กระจกตาอักเสบ, ภาวะที่มีการเสื่อมของเยื่อตาขาว, ต้อลม, ต้อเนื้อ, พยาธิสภาพของกระจกตา และรอบๆ บริเวณหนังตาอาจเกิดเป็นมะเร็งผิวหนัง

ประเทศไทยได้มีการตรวจวัดรังสี UV ซึ่งผลการตรวจพบว่าประเทศไทยมีความเข้มข้นขอรังสี UV ในอัตรา UV Index วัดได้ระดับ 11 ส่วนประเทศในเขตอบอุ่นมีระดับ UV Index เพียงระดับ 3 ถึง 5 เท่านั้น UV Index ระดับ 9 เป็นระดับที่ถือว่าสูงกว่ามาตรฐาน

ซึ่งในภาคใต้ของประเทศไทยบางเวลาสามารถวัด UV Index สูงถึงระดับ 13 ประเทศไทยจึงถือว่ามีระดับของรังสี UV สูงกว่ามาตรฐานมาก เราจึงควรหลีกเลี่ยงหรือหาวิธีป้องกัน โดยเรตินาของเด็กสามารถป้องกันรังสี UVได้น้อยกว่าผู้ใหญ่

รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet)

วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553


0 ความคิดเห็น
รังสีอัลตราไวโอเลต หรือ รังสียูวี (Ultraviolet) หรือในชื่อภาษาไทยว่า รังสีเหนือม่วง เป็นช่วงหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าแสงที่มองเห็น แต่ยาวกว่ารังสีเอกซ์อย่างอ่อน มีความยาวคลื่นในช่วง 400-10 นาโนเมตร และมีพลังงานในช่วง 3-124 eV
มันได้ชื่อดังกล่าวเนื่องจากสเปกตรัมของมันประกอบด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่สูงกว่าคลื่นที่มนุษย์มองเห็นเป็นสีม่วง

การค้นพบ
หลังจากที่รังสีอินฟราเรดถูกค้นพบ นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันชื่อ โยฮันน์ วิลเฮล์ม ริตเตอร์ (Johann Wilhelm Ritter) ได้ทดลองค้นหารังสีที่อยู่ตรงข้ามกับรังสีอินฟราเรด นั่นคือ รังสีอินฟราเรดมีความยาวคลื่นยาวกว่าแสงสีแดง แต่ริตเตอร์ต้องการจะหารังสีชนิดหนึ่งที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าสีม่วง เขาได้ใช้กระดาษอาบซิลเวอร์คลอไรด์วางไว้กลางแดด พบว่ากระดาษนั้นเปลี่ยนเป็นสีดำ ริตเตอร์เรียกรังสีนี้ว่า deoxidizing rays ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็นยูวีดังเช่นในปัจจุบัน

ประโยชน์ของรังสีอัลตราไวโอเลตนั้นมีมาก ดังจะได้กล่าวคร่าว ๆ ต่อไปนี้
  • แบล็กไลต์ (black light) เป็นหลอดที่เปล่งรังสียูวีคลื่นยาว มีสีม่วงดำ ใช้ตรวจเอกสารสำคัญ เช่น ธนบัตร, หนังสือเดินทาง, บัตรเครดิต ฯลฯ ว่าเป็นของจริงหรือปลอม หลายประเทศได้ผลิตลายน้ำที่ไม่สามารถมองเห็นได้ในรังสีชนิดนี้ นอกจากนี้ แบล็กไลต์ยังสามารถใช้ล่อแมลงให้มาติดกับ เพื่อที่จะกำจัดภายหลังได้
  • หลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดเรืองแสง ใช้หลักการผลิตรังสีอัลตราไวโอเลต โดยการทำให้ไอปรอทแตกตัว รังสีที่ได้จะไปกระทบสารเรืองแสงให้เปล่งแสงออกมา
  • ดาราศาสตร์ โดยปกติแล้ววัตถุที่ร้อนมากจะเปล่งยูวีออกมา เราจึงสามารถศึกษาวัตถุท้องฟ้าได้โดยผ่านทางยูวี ทว่าต้องไปปฏิบัติในอวกาศ เพราะยูวีส่วนมากถูกโอโซนดูดซับไว้หมด
  • การวิเคราะห์แร่ โดยรังสีอัลตราไวโอเลตสามารถใช้ตรวจวิเคราะห์แร่ได้ แม้ว่าจะดูเหมือนกันภายใต้แสงที่มองเห็น แต่เมื่อผ่านยูวีแล้วก็จะเห็นความแตกต่างได้
  • ฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะในน้ำดื่ม และยังสามารถนำไปฆ่าเชื้อในเครื่องมือ หรืออาหารได้ด้วย